วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Director's Programme note

เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯครั้งที่ 6 คับคั่งไปด้วยภาพยนตร์จากทั่วโลก รวบรวมผลงานของผู้กำกับชื่อดัง และงานของสายเลือดใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาเป็นอนาคตของวงการภาพยนตร์ ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนเรื่องราวในสังคม-วัฒนธรรม การเมือง บทบันทึกประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งถ่ายทอดปัจเจกทางความคิดของผู้สร้าง ผ่านทางภาษาภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทั้งหมดได้ทำการแบ่งหมวดหมู่ดังนี้

:: เอเชียร่วมสมัย ::
ภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียนั้น โดดเด่นด้วยการสะท้อนประเด็นสังคมและการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่ผ่านการถ่ายทอดอย่างละมุนละไมและลึกซึ้งในรายละเอียด อาทิ Chants of Lotus โดยผู้กำกับสี่สาวจากอินโดนีเซีย พูดถึงผลกระทบของรอยต่อของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม A Moment in June ภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยของที่ถ่ายทอดตัวตนของสังคมหลายหลากมุมมอง และ Sell Out จากมาเลเซีย นำเสนอมุมมองที่เสียดสีสังคมบริโภคนิยม ผ่านเนื้อเรื่องที่แดกดันรายการเรียลลิตี้โชว์

:: ภาพยนตร์โลก ::
รวบรวมภาพยนตร์จากยุโรป อเมริกาเหนือ คาริบเบียน ตะวันออกกลาง ที่อัดแน่นไปด้วยหลากเนื้อหา หลายลีลาการนำเสนอ เช่น Eat, for this is my body จากประเทศเฮติ ที่มีลีลาของการนำเสนอแปลกใหม่เหนือจริง สะท้อนปัญหาการเมืองและความอดอยากของผู้คนที่เป็นผลจากยุคล่าอณานิคม Three Monkeys งานล่าสุดจากผู้กำกับฯออเตอร์ นูริ บิลเก้ เซย์ลันด์ จากตุรกี ถ่ายทอดกวียภาพบนแผ่นฟิล์มได้อย่างงดงาม New Age ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกจาก เคเรน ซิตเตอร์ ศิลปินวิชวลอาร์ตหญิง ที่ท้าทายผู้ชมด้วยการบิดระนาบการเล่าเรื่องและความซับซ้อนของตัวละครจนแทบกะพริบตาไม่ได้ ครบรสกับ 2 อนิเมชั่น 2 สไตล์ Sita Sings the Blues งานน่ารักๆที่นำมหากาพย์รามเกียรติ์มาถ่ายทอดในมุมมองใหม่ ผ่านสายตาของผู้กำกับหญิงจากอเมริกา Waltz with Bashir อนิเมชั่นวิพากษ์สงครามจากอิสราเอล เที่รียกเสียงฮือฮามากที่สุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ผ่านมา และ Cherry Blossoms-Hanami ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัว สัจธรรมของชีวิต และความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ ที่เปี่ยมด้วยความหอมหวนระคนเศร้า ส่งตรงจากประเทศเยอรมันนี


:: ละตินอเมริกา ::
ภาพยนตร์ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา สร้างชื่อในเวทีโลกเสมอมา เอกลักษณ์ที่ทำให้ภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้มีความโดดเด่น คือประเด็นเนื้อหาที่เฉพาะตัว และสไตล์การถ่ายทอดที่เปรียบได้กับอาหารจานเผ็ดร้อนแต่อุดมไปด้วยคุณค่า ปีนี้เทศกาลฯได้คัดเลือกผลงานจากละตินอเมริกาเพื่อนำเสนอให้แก่ผู้ชมชาวไทย ทั้งงานของผู้กำกับรุ่นใหม่ คือ The Headless Woman และ La Rabia จากประเทศอาร์เจนติน่า The Path จากคอสตาริกา The Sky, The Earth and The Rain จากชิลี และ The Watercolorist จากเปรู

รวมถึงผู้กำกับฯที่มีผลงานโดดเด่นอย่างยาวนาน คือโปรแกรมสดุดี เฮคเตอร์ บาเบนโก้ ผู้กำกับฯคนสำคัญของบราซิล ซึ่งภาพยนตร์ 3 เรื่องสำคัญที่จะทำการจัดฉายคือ Pixote, the Law of the Weakest ผลงานสร้างชื่อเรื่องแรก Kiss of The Spider Woman งานที่ทำในอเมริกาซึ่งทำให้เขาโด่งดังเป็นอย่างมาก และThe Past งานชิ้นล่าสุดที่นำแสดงโดย กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล

:: โลตัสอวอร์ด ::
รางวัลโลตัสอวอร์ดเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับผู้กำกับฯที่สร้างคุโณปการณ์ให้แก่วงการภาพยนตร์ ครั้งนี้เทศกาลฯได้มอบรางวัลให้กับ ชยาม เบเนกัล หนึ่งในผู้กำกับระดับปรมาจารย์ของอินเดีย ผู้เจนจัดในการถ่ายทอดเนื้อหาวิพากษ์สังคมอันหนักหน่วง ผ่านงานเมโลดรามาที่ลึกซึ่งกินใจ ทำให้ผลงานของท่านโดดเด่นและได้รับการกล่าวขวัญในอดีตถึงปัจจุบัน โดยภาพยนตร์ 5 เรื่องที่จัดฉายคือ Manthan(1976), Bhumika(1977), Mandi(1982), Samar(1998) และ Zubeidaa(2001)

:: รำลึกถึง ดีเร็ก จาร์มาน ::
ดีเร็ก จาร์มาน เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่าศิลปินได้อย่างแท้จริง จาร์มาน เชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองอย่างแน่วแน่ งานของเขาได้ทำลายขนบต่างๆของภาพยนตร์มากมาย เกิดเป็นภาษาภาพยนตร์ของตนเองที่ทรงพลังไม่ต่างจากบทกวี อิทธิพลในงานของเขาได้ส่งต่อไปถึงผลงานในรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว ที่ ดีเร็ก จาร์มาน ได้เสียชีวิตไป เทศกาลฯได้ทำการรำลึกถึง โดยจัดฉายผลงานสำคัญจำนวน 3 เรื่อง คือ Caravaggio, Jubilee และ The Angelic Conversation รวมถึงสารคดีเรื่อง Derek ที่ทำโดย ทิลด้า สวินตัน และ ไอแซค จูเลี่ยน 2 ศิลปินที่ร่วมกันสร้างผลงานมากับ จาร์มาน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่


:: ภาพยนตร์สารคดี ::
บทบันทึกซึ่งนำพาผู้ชมไปสัมผัสเรื่องราวต่างๆ ทั้งความเป็นไปของโลกและวัฒนธรรม เช่น 2 สารคดีดนตรีชั้นยอดที่ไม่ควรพลาด Shine a Light สารคดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ของวง The Rolling Stones กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่ถึงแม้ไม่ใช่แฟนของ The Rolling Stones ก็น่าจะตื่นตากับลีลาการแสดงอันเร่าร้อนของพวกเขา เสมือนข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง และ Return to Goree สารคดีติดตามนักดนตรีแอฟริกันที่โด่งดังมากในยุโรป Lady Kul El-Arab จากอิสราเอลบันทึกเรื่องของสาวอาหรับที่อยากเข้ามาประกวดนางงามอิสราเอลซึ่งนำความขัดแย้งมาสู่หมู่บ้านของเธอ Jerusalem the East Side Story ตีแผ่ปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังของอิสราเอลและปาเลสไตน์ A Jihad for Love เรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิของเพศที่สามในโลกอาหรับ Her Name is Sabine สารคดีเนื้อหาหนักหน่วง กำกับโดย ซองดรีน บอนแนร์ ดาราชื่อดังของฝรั่งเศส ถ่ายทอดเรื่องราวของน้องสาวออทิสติก รวมถึง Listener's Tale งานสารคดีทดลองเชิงกวีจากอินเดีย


:: ภาพยนตร์สั้น ::
ภาพยนตร์สั้นถือเป็นหลักไมล์สำคัญสู่หนทางสู่การทำภาพยนตร์ขนาดยาว ของผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญมามากมาย เทศกาลฯได้เลือกผลงานภาพยนตร์สั้นของผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ฉายแววในอนาคต ที่รวมเอาไว้ทั้ง หนังสั้นนานาชาติ และหนังสั้นไทย รวมถึง 2 โปรแกรมใหญ่คือ All Human Beings Are Born Free and Equal... จากประเทศเยอรมันนี ซึ่งร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ และโปรแกรมภาพยนตร์สั้นจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นผู้พิการ

:: นิว มีเดีย ::
โปรแกรมใหม่แกะกล่อง เพื่อตอบรับกระแสของสื่อมัลติมีเดียรูปแบบใหม่ ทั้งสื่อบันเทิงหรือแม้กระทั่งงานศิลปะ ที่กำลังรุกคืบเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯได้รับการสนับสนุนจาก บริติช เคาน์ซิล นำเอาโปรแกรม Graphic cities งานสื่อผสมที่ได้เดินทางไปจัดแสดงมาแล้วทั่วโลก มาทำการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย รวมถึงเทศกาลฯได้ทำการทดลองนำเสนองานภาพยนตร์ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต โดยเปิดให้เข้าชมตัวอย่างภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายทางเวปไซต์ Youtube ที่ http://www.youtube.com/wffbkk

ไม่มีความคิดเห็น: